สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ค้ำประกันรถอย่างไร ไม่ให้โดนเอาเปรียบ

ค้ำประกันรถอย่างไร ไม่ให้โดนเอาเปรียบ

ค้ำประกันรถอย่างไร ไม่ให้โดนเอาเปรียบ

 

เปิดข้อควรรู้ก่อนคิดค้ำประกันรถให้ใคร ไม่ว่าจะเป็นญาติสนิท หรือเพื่อนใกล้ชิดขนาดไหน เรื่องที่ไม่อยากให้เกิดก็อาจเกิดขึ้นได้ หากเขาผู้นั้นไม่จ่ายค่างวด !

สำหรับผู้ที่ต้องการถอยรถใหม่หรือรถป้ายแดง แต่ไม่มีเงินก้อนโตเพื่อซื้อแบบเงินสดจำเป็นต้องมีการขอสินเชื่อจากทางไฟแนนซ์หรือสถาบันทางการเงิน ซึ่งทางไฟแนนซ์จะต้องมีการตรวจคุณสมบัติประกอบการพิจารณา และขอเอกสารต่าง ๆ จากทางผู้ซื้อ โดยสิ่งที่จะขาดไม่ได้คือ “ผู้ค้ำประกันรถ” ที่ผู้ยื่นขอสินเชื่อจำเป็นต้องมีเพื่อเป็นหลักค้ำประกัน ทั้งนี้ หากคุณเป็นอีกหนึ่งคนที่มีญาติพี่น้อง หรือเพื่อนรัก ต้องการให้ไปเป็นผู้ค้ำประกันให้ มีเรื่องไหนบ้างที่คุณต้องรู้ มาดูกัน

 

การค้ำประกัน คืออะไร

ค้ำประกัน คือสัญญาซึ่งบุคคลหนึ่ง เรียกว่า “ผู้ค้ำประกัน” สัญญาว่าจะชําระหนี้ ให้แก่เจ้าหนี้เมื่อลูกหนี้ไม่ยอมชําระหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 680 เช่น นาย ก. กู้เงินจาก นาย ข. เป็นจํานวนเงิน 100,000 บาท โดย นาย ค. ได้เซ็นชื่อคำประกัน หรือรับรองว่าหากนาย ก. ไม่ชําระหนี้เงินกู้ นาย ค. จะเป็นผู้ชําระหนี้แทนนาย ก. เอง สัญญาดังกล่าว เรียกว่า “สัญญาค้ำประกัน” โดยนาย ก. เรียกว่า “ลูกหนี้” นาย ข. เรียกวา “เจ้าหนี้ ส่วนนาย ค. จะเรียกวา “ผู้ค้ำประกัน”

 

สำหรับกรณีการค้ำประกันรถยนต์ คือการทำธุรกรรมขอสินเชื่อรถยนต์ หากผู้ขอสินเชื่อรถวางเงินดาวน์น้อยกว่า 20% หรือมีคุณสมบัติทางการเงินไม่เข้าเกณฑ์ที่ทางสถาบันทางการเงินหรือไฟแนนซ์กำหนดไว้ ผู้ขอสินเชื่อจำเป็นต้องหาผู้ทำหน้าที่ค้ำประกันมาเพิ่มความน่าเชื่อถือ และเพื่อเป็นหลักประกันว่าหากผิดนัดชำระหนี้ ตามระยะเวลาที่กำหนด คนที่ค้ำประกันจะต้องรับผิดชอบในการชำระหนี้แทน แต่อาจจะไม่ต้องรับภาระทั้งหมด ซึ่งก็จะขึ้นอยู่ที่ข้อตกลงตามสัญญากู้เงินที่ทำร่วมกัน

 

คุณสมบัติผู้ค้ำประกันรถยนต์

ตามกฎหมายระบุไว้ว่า คุณสมบัติแรกของผู้ที่ทำหน้าที่ค้ำประกันรถคือต้องมีอายุ 20 ปีขึ้นไป เพราะถือว่าเป็นผู้บรรลุนิติภาวะทางกฎหมาย สามารถทำนิติกรรมหรือลงนามสัญญาต่าง ๆ ได้โดยไม่ต้องขออนุญาตจากผู้ปกครอง ซึ่งเป็นการยืนยันว่าผู้ค้ำประกันสามารถรับผิดชอบสัญญาและชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย นอกจากนั้น ยังต้องมีคุณสมบัติเพิ่มเติมดังนี้

 

มีอาชีพและรายได้ที่มั่นคง

 

มีที่อยู่อาศัยที่สามารถติดต่อได้แน่นอน

 

ไม่มีประวัติค้างชำระ หรือประวัติเสียหายทางด้านการเงิน เช่น ติดเครดิตบูโร

 

ข้อต้องรู้ก่อนค้ำประกันรถให้ใคร

เมื่อคุณมีสถานะเป็นคนค้ำประกัน หากผู้ที่กู้หรือขอสินเชื่อยังคงจ่ายตามปกติ ก็คงไม่มีปัญหาอะไร แต่ถ้าหากผู้ที่ขอสินเชื่อนั้นผิดนัดจ่ายค่างวด โดยล่วงเลยระยะเวลาที่กำหนด หรือเจ้าหนี้ได้เรียกเก็บจนสุดความสามารถแล้ว ผู้ค้ำประกันก็จะต้องเข้าสู่กระบวนการชำระหนี้แทน โดยทางผู้ค้ำประกันจะไม่สามารถยกเลิกสัญญาค้ำประกันได้ในขณะอยู่ในระยะเวลาสัญญา นอกจากว่าได้รับการยินยอมจากเจ้าหนี้ หรือมีการตกลงกับทางเจ้าหนี้เพื่อเปลี่ยนสัญญา

 

แต่ทางไฟแนนซ์หรือสถาบันทางการเงิน หรือที่เรียกว่าเจ้าหนี้ จะไม่สามารถเรียกเก็บเงินจากคนค้ำประกันได้ทันที ในกรณีผู้ที่กู้หนีหายไป ซึ่งทางเจ้าหนี้ต้องทำหนังสือแจ้งล่วงหน้าให้กับคนค้ำประกันล่วงหน้าก่อน 60 วัน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ฉบับปรับปรุงใหม่ 2558 ประกอบกับในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ฉบับใหม่นี้ ได้ให้สิทธิ์กับผู้ค้ำประกันมากขึ้น คือ

 

จำกัดวงเงินหนี้ก่อนเซ็นสัญญา ผู้ค้ำประกันสามารถจำกัดวงเงินสูงสุดที่ต้องจ่าย และระยะเวลาในการค้ำประกันได้ ด้วยการตกลงกันคนที่เป็นลูกหนี้ไว้ว่าต้องการชำระสูงสุดเท่าไหร่ ก่อนทำการเซ็นสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษรร่วมกับลูกหนี้ และให้ผู้กู้รับทราบร่วมกัน

 

 

ไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ย การกู้เงินแต่ละประเภทจะมีการกำหนดอัตราดอกเบี้ยที่ลูกหนี้ต้องจ่ายอยู่ในแต่ละงวด ในกรณีที่ลูกหนี้ไม่ชำระเงินค่างวด แล้วทางเจ้าหนี้ได้มาเรียกเก็บค่าใช้จ่ายจากผู้ค้ำประกัน ซึ่งค้ำประกันสามารถจ่ายเพียงส่วนที่ตัวเองรับผิดชอบ ตามส่วนที่ตกลงกำหนดสัญญาล่วงหน้าไว้ได้ และหนึ่งในนั้นคือสามารถเลือกจ่ายเฉพาะเงินต้นโดยไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ยก็ได้ และหลังจากที่ชำระหนี้ส่วนที่รับผิดชอบให้กับเจ้าหนี้แล้ว ผู้ค้ำประกันก็สามารถฟ้องร้องทางกฎหมายเอาส่วนที่จ่ายไปคืนกลับมาจากคนที่เป็นลูกหนี้ได้ตามจำนวน พร้อมกับเรียกเก็บดอกเบี้ยหรือค่าเสียหายส่วนอื่น ๆ ได้

 

ผู้ค้ำประกันจะพ้นสภาพการเป็นคนค้ำได้อย่างไร

สำหรับผู้ค้ำประกันจะสามารถหลุดพ้นจากการค้ำประกันได้ ดังนี้

 

ผู้ค้ำประกันเสียชีวิต โดยหนี้สินต่าง ๆ จะไม่สามารถตกไปยังทายาทหรือลูกหลานได้เนื่องจากเป็นสัญญาค้ำประกันเฉพาะตัว

 

สัญญาการค้ำประกันหมดอายุความ

 

ลูกหนี้ได้ชำระหนี้ครบถ้วน

 

เมื่อลูกหนี้ไม่ยอมจ่ายหรือหนีหนี้ไปแล้ว และทางผู้ค้ำประกันขอชำระหนี้แทนลูกหนี้ แต่ทางเจ้าหนี้ไม่รับชำระหนี้ จะถือว่าผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากการค้ำประกันในสัญญา

 

“การเป็นผู้ค้ำประกัน” ไม่ว่าจะไปค้ำประกันรถหรือบ้าน เมื่อทำสัญญาแล้ว ก็จะเหมือนเป็นลูกหนี้ไปด้วย ถ้าหากเกิดอะไรขึ้น เช่น ผู้ที่ขอสินเชื่อหนีหรือไม่จ่าย ผู้ที่ค้ำประกันก็ต้องเป็นผู้รับผิดชอบทั้งหมด ดังนั้น ก่อนที่จะไปเป็นคนค้ำประกันให้ใคร ต้องพิจารณาให้ดี และศึกษาพร้อมทำความเข้าใจในสัญญา รวมถึงตัวบทกฎหมาย และที่สำคัญต้องเช็กดูก่อนว่าผู้ที่เราจะไปค้ำประกันรถยนต์ให้นั้น มีความน่าเชื่อถือและน่าไว้ใจมากน้อยแค่ไหน มีความสามารถในการผ่อนได้ตลอดหรือไม่ เพราะไม่อย่างนั้นเราเองนี่แหละที่จะเป็นผู้ช้ำใจ กับภาระต่าง ๆ ที่ต้องรับผิดชอบทั้งที่ไม่ได้เป็นผู้ก่อ อย่างที่มีข่าวให้เห็นในทุกวันนี้

 

ขอบคุณข้อมูลจาก : tgia.org, lawyerleenont.com, ยูทูบแชนแนล ThaiPBS, krisdika.go.th

view