สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เกียร์ CVT คืออะไร ต่างจากเกียร์อัตโนมัติปกติอย่างไร

เกียร์ CVT คืออะไร ต่างจากเกียร์อัตโนมัติปกติอย่างไร

เกียร์ CVT คืออะไร ต่างจากเกียร์อัตโนมัติปกติอย่างไร

เกียร์ CVT คืออะไร หากเทียบกับเกียร์อัตโนมัติแบบปกติแล้ว มีข้อดี-ข้อเสีย หรือแตกต่างกันอย่างไร วันนี้เราจะพาไปหาคำตอบกัน

เพราะปัจจุบันรถยนต์รุ่นใหม่หลายรุ่นเริ่มเปลี่ยนมาใช้เกียร์อัตโนมัติแบบ CVT กันมากขึ้น ซึ่งอาจทำให้หลายคนสงสัยว่าเกียร์ CVT คืออะไร และถ้าหากใครยังไม่ทราบเราจะพาไปทำความรู้จักกับเกียร์ CVT ว่าแตกต่างจากเกียร์อัตโนมัติแบบเดิมมากน้อยแค่ไหน รวมถึงต้องการการดูแลเป็นพิเศษหรือเปล่า  

 

เกียร์ CVT คืออะไร

เกียร์ CVT หรือ Continuously Variable Transmission คือ เกียร์อัตโนมัติรูปแบบหนึ่งที่มีอัตราทดแปรผันตามความเร็ว และแม้ว่าเกียร์ CVT เพิ่งจะได้รับความนิยมเมื่อไม่นานมานี้ แต่แนวคิดของเกียร์ CVT ปรากฏขึ้นมาตั้งแต่ ค.ศ. 1490 โดย Leonardo DaVinci และมีการจดสิทธิบัตรอย่างเป็นทางการในปี ค.ศ. 1886 โดยผู้ผลิตรถยนต์แบรนด์หรูยี่ห้อหนึ่ง ก่อนจะเริ่มได้รับความนิยมในช่วงหลัง โดยเฉพาะกลุ่มรถยนต์ขนาดเล็กและขนาดกลาง

 

โดยหลักการทำงานของเกียร์ CVT หลัก ๆ จะประกอบด้วย รอก หรือพูลเลย์ (Pulley) 2 ตัว คือ พูลเลย์ขับ (Drive Pulley) ที่ต่อจากเครื่องยนต์ และพูลเลย์ตาม (Driven Pulley) ที่ต่อเข้ากับชุดเพลาขับ โดยมีสายพานโซ่ (Steel Belt) ลักษณะการทำงานคล้ายกับจานโซ่จักรยานทั่วไปที่ไม่มีเกียร์ เพียงแต่แกนพูลเลย์ทั้ง 2 ตัวของระบบ CVT นั้นสามารถขยับถอยเข้า-ออกได้ เพื่อลดหรือเพิ่มขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของวงสายพานแต่ละด้านสำหรับเปลี่ยนแปลงอัตราทดแทนชุดเฟืองเกียร์ในเกียร์อัตโนมัติปกติ

ข้อดีของเกียร์ CVT

เนื่องจากเกียร์อัตโนมัติแบบ CVT ที่ใช้พูลเลย์ 2 ตัว สามารถขยายขนาดศูนย์กลางของแกนซึ่งเชื่อมต่อโดยสายพานโซ่ในการปรับอัตราทดตามความเร็วแทนชุดเฟืองเกียร์ได้อย่างต่อเนื่องแบบไม่สะดุด จึงทำงานได้ราบรื่นไร้รอยต่อ (เนื่องจากไม่ต้องเปลี่ยนชุดเกียร์เป็นช่วง ๆ ตามความเร็วรถ) และสูญเสียกำลังน้อยกว่า ประหยัดเชื้อเพลิงมากขึ้น

 

นอกจากนี้ ชุดเกียร์ CVT ยังมีขนาดกะทัดรัดเมื่อเทียบกับเกียร์อัตโนมัติแบบปกติ เพราะชิ้นส่วนน้อย ทำให้ใช้พื้นที่ในการติดตั้งไม่มาก จึงสามารถออกแบบส่วนของห้องโดยสารให้กว้างขวางขึ้นได้ หรือใช้ติดตั้งในรถขนาดเล็กก็ง่ายขึ้นด้วย

 

ข้อเสียของเกียร์ CVT

สำหรับเกียร์ CVT ซึ่งมีชิ้นส่วนเคลื่อนไหวน้อย รวมถึงการออกแบบที่เรียบง่ายกว่าระบบเกียร์อัตโนมัติปกติ จึงมีข้อจำกัดในแง่ของการใช้งาน เพราะจุดประสงค์ของเกียร์ CVT ส่วนใหญ่ไม่ได้ถูกออกแบบมาให้รองรับการขับขี่อย่างรุนแรงหรือใช้งานหนัก ดังนั้นหากไม่มีความจำเป็นก็ควรขับขี่อย่างนุ่มนวล เพื่อช่วยยืดอายุการใช้งานของเกียร์ CVT

 

ปัญหาเกียร์ CVT ที่พบบ่อย

โดยธรรมชาติของเกียร์ CVT ซึ่งถูกออกแบบมาสำหรับการใช้งานทั่วไป แต่หากใช้งานเต็มที่เหมือนเกียร์อัตโนมัติแบบปกติอาจทำให้เกียร์ CVT เสื่อมสภาพหรือเกิดปัญหาได้เร็วขึ้น ซึ่งอาการที่พบบ่อยของเกียร์ CVT จะมี ดังนี้

 

1. เกิดความร้อนในระบบเกียร์สูง

 

เนื่องจากการทำงานของเกียร์ CVT ซึ่งใช้ชุดพูลเลย์ 2 ตัว และสายพานนั้นต้องหมุนอยู่ตลอดเวลา จึงจำเป็นต้องอาศัยระบบหล่อเย็นเพื่อระบายความร้อน หากระบบดังกล่าวมีปัญหาจะทำให้ชุดเกียร์ CVT เกิดความร้อนสูง ซึ่งสังเกตได้จากกลิ่นไหม้ภายในรถ

 

2. น้ำมันเกียร์รั่วซึม

 

ระบบเกียร์ CVT ก็เหมือนกับระบบเกียร์ทั่วไป คือยังต้องอาศัยน้ำมันเกียร์ในการหล่อลื่น หากปล่อยให้น้ำมันเกียร์ขาดจะทำให้เกียร์มีปัญหาตามมา เช่น การรั่วซึม ส่งผลให้ระบบเกียร์ตอบสนองช้าลง รวมถึงหากน้ำมันเกียร์มีการปนเปื้อนจะทำให้การทำงานของเกียร์ CVT ไม่ราบรื่น เร่งไม่ขึ้น หรือกระตุก หากรถมีอาการเหล่านี้ควรรีบนำไปตรวจเช็กน้ำมันเกียร์โดยด่วน

 

3. สูญเสียกำลังและความเร็ว

 

รถเกียร์ CVT ที่มีปัญหานี้จะมีอาการกระตุกและสั่นเมื่อเดินคันเร่ง โดยเฉพาะเมื่อเกิดความร้อนสูงในระบบ รถจะสูญเสียกำลังลงไปอย่างเห็นได้ชัด

 

4. ความทนทาน

 

หากเทียบกับเกียร์อัตโนมัติแบบปกติ เกียร์ CVT ซึ่งมีชิ้นส่วนน้อยและต้องทำงานตลอดเวลา จึงมีความทนทานน้อยหรืออายุการใช้งานสั้นกว่าตามธรรมชาติ แต่ปัจจุบันผู้ผลิตรถยนต์ได้พัฒนาให้เกียร์ CVT มีความทนทานขึ้นจากเดิมมากจนไม่ต้องกังวลนัก เพียงแต่อาจต้องปรับพฤติกรรมการขับขี่ให้เข้ากับรูปแบบเกียร์ที่ใช้เท่านั้น

 

เพราะเกียร์แต่ละประเภทย่อมมีข้อดี-ข้อเสียแตกต่างกัน ซึ่งเกียร์ CVT ก็ให้ประโยชน์ในหลายด้าน เช่น การขับขี่ที่นุ่มนวล ให้อัตราเร่งต่อเนื่อง โดยสูญเสียกำลังน้อย ประหยัดน้ำมัน แต่ผู้ใช้งานก็ต้องทำความเข้าใจและใช้งานอย่างระมัดระวัง ก็จะช่วยยืดอายุการใช้งานของเกียร์ CVT ได้

 

ขอบคุณข้อมูลจาก : caranddriver.com, rxmechanic.com, motorbiscuit.com

view