สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

จอดรถขวางหน้าบ้านคนอื่น ผิดกฎหมายไหม ?

จอดรถขวางหน้าบ้านคนอื่น ผิดกฎหมายไหม ?

จอดรถขวางหน้าบ้านคนอื่น ผิดกฎหมายไหม ?

 

จอดรถขวางหน้าบ้านคนอื่น ผิดกฎหมายไหม แจ้งความจับได้หรือเปล่า ? อีกหนึ่งคำถามที่หลายคนสงสัย วันนี้เราจะพาไปหาคำตอบกัน

การจอดรถขวางหน้าบ้านผู้อื่น ถือเป็นปัญหาที่หลายครั้งนำมาสู่การทะเลาะวิวาท ถึงขนาดขึ้นโรงขึ้นศาล และเป็นเรื่องราวใหญ่โตตามมา จนทำให้หลายคนเกิดข้อสงสัยว่าจริง ๆ แล้วการจอดรถบนถนนขวางบริเวณหน้าบ้านคนอื่นสามารถทำได้หรือไม่ ถ้าจอดไปแล้วเจ้าของบ้านสามารถเอาผิดเจ้าของรถได้หรือเปล่าและผิดกฎหมายข้อไหน

 

จอดรถขวางหน้าบ้านผิดกฎหมาย

อาจโดนทั้งจำทั้งปรับ

 

หากผู้ใช้รถจอดรถขวางทางเข้า-ออกบ้านของผู้อื่น เจ้าของบ้านที่ถูกรถจอดกีดขวางสามารถแจ้งความเพื่อเอาผิดได้ โดยเข้าข่ายความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 397 วรรคสอง ฐานก่อความเดือดร้อนรำคาญ มีอัตราโทษจำคุก ไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยผู้เสียหายยังสามารถเรียกร้องค่าเสียหายในทางแพ่ง ตามมาตรา 420 และถ้าเป็นที่สาธารณะยังมีโทษทางอาญาตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก เจ้าหน้าที่สามารถออกใบสั่งได้อีกด้วย

 

ซึ่งตามกฎหมายไทยนั้นได้กำหนดข้อบังคับเกี่ยวกับการจอดรถเอาไว้ชัดเจนแล้วว่า ว่าผู้ขับขี่รถยนต์ไม่มีสิทธิ์จอดรถกีดขวางทางเข้า-ออกบ้านผู้อื่น ไม่ว่าพื้นที่ดังกล่าวจะเป็นพื้นที่เอกชนหรือทางสาธารณะ เพราะถือเป็นความผิดตามกฎหมาย พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 55 (6) ที่ระบุไว้ว่า ห้ามมิให้ผู้ขับขี่หยุดรถ

 

1.ในช่องเดินรถ เว้นแต่หยุดชิดขอบทางด้านซ้ายของทางเดินรถในกรณีที่ไม่มีช่องเดินรถประจำทาง

2.บนทางเท้า

3.บนสะพานหรือในอุโมงค์

4.ในทางร่วมทางแยก

5.ในเขตที่มีเครื่องหมายจราจรห้ามหยุดรถ

6.ตรงปากทางเข้า-ออกของอาคารหรือทางเดินรถ

7.ในเขตปลอดภัย

8.จอดในลักษณะกีดขวางการจราจร

 

จอดรถอย่างไรไม่ให้ผิดกฎหมาย ?

 

เมื่อรู้แล้วว่าการจอดรถขวางหน้าบ้านผู้อื่นผิดกฎหมาย ทั้งกฎหมาย พ.ร.บ.จราจรทางบก และผิดกฎหมายตามประมวลกฎหมายอาญา ฐานก่อความเดือดร้อนรำคาญ ซึ่งอาจทำให้มีสิทธิ์ติดคุกได้ ดังนั้นก็ควรทำทุกอย่างให้ถูกต้อง โดยเรามีคำแนะนำเกี่ยวกับการจอดรถที่ถูกกฎหมายมาแนะนำ ซึ่งถ้าทำตามนี้รับรองไม่ถูกจับแน่นอน

 

-ห้ามจอดรถบนทางเท้า

-ห้ามจอดรถบนสะพานหรืออุโมงค์

-ห้ามจอดรถในทางข้าม หรือระยะ 3 เมตร จากทางข้าม หรือทางม้าลายนี่แหละห้ามจอด

-ห้ามจอดรถในทางร่วมทางแยก หรือในระยะ 10 เมตร จากทางร่วมทางแยก

-ห้ามจอดรถในเขตที่มีเครื่องหมายจราจร “ห้ามจอดรถ”

-ห้ามจอดรถในระยะ 3 เมตร จากท่อน้ำดับเพลิง

-ห้ามจอดรถในระยะ 15 เมตร จากทางรถไฟผ่าน

-ห้ามจอดรถในระยะ 15 เมตร จากที่ติดตั้งสัญญาณจราจร

-ห้ามจอดรถซ้อนคันกับรถอื่นที่จอดอยู่ก่อนแล้ว นอกจากทางห้างจะทำช่องพิเศษไว้ให้ และห้ามดึงเบรกมือ

-ห้ามจอดรถตรงปากทางเข้า-ออกของบ้าน อาคาร ทางเดินรถ หรือในระยะ 5 เมตร จากปากทางเดินรถ

-ห้ามจอดรถระหว่างเขตปลอดภัยกับขอบทาง หรือในระยะ 10 เมตร นับจากปลายสุดของเขตปลอดภัยทั้งสองข้าง

-ห้ามจอดรถในที่คับขัน

-ห้ามจอดรถในระยะ 15 เมตร ก่อนถึงเครื่องหมายหยุดรถประจำทาง และเลยเครื่องหมายไปอีก 3 เมตร

-ห้ามจอดรถในลักษณะกีดขวางการจราจร ไม่ว่าจะกรณีใดก็ตาม

-ห้ามจอดรถในระยะ 3 เมตร จากตู้ไปรษณีย์

 

รู้อย่างนี้แล้วผู้ขับขี่ทุกท่านคงต้องระมัดระวังเรื่องการหาที่จอดรถมากขึ้น อย่าเผลอไปจอดขวางทางเข้า-ออกบ้านใครเข้า เพราะอาจถูกแจ้งความได้ แต่หากมีความจำเป็นที่จะต้องจอดขวางจริง ๆ ควรทิ้งเบอร์ติดต่อไว้ที่หน้ารถ เผื่อมีกรณีฉุกเฉิน เจ้าของบ้านจะได้ติดต่อได้สะดวก

ขอบคุณข้อมูลจาก : moj.go.th, krisdika.go.th, moj.go.th, trafficpolice.go.th

 

Cr.SanookAuto

view