สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เมื่อสัญญาณไฟสูง กลายเป็นอุปกรณ์กระตุ้นอารมณ์โกรธ!

เมื่อสัญญาณไฟสูง กลายเป็นอุปกรณ์กระตุ้นอารมณ์โกรธ!

เมื่อสัญญาณไฟสูง กลายเป็นอุปกรณ์กระตุ้นอารมณ์โกรธ!

 

การแจ้งเตือนรถรอบข้างด้วยการให้สัญญาณไฟรถยนต์ล่วงหน้าคือกฎแห่งความปลอดภัยที่สามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน การให้สัญญาณเมื่อขับรถยนต์ถือเป็นเรื่องที่มีความสำคัญลำดับต้นๆ ในด้านความปลอดภัย สัญญาณต่างๆ โดยเฉพาะไฟเป็นการบอกความตั้งใจให้กับผู้ร่วมทางรอบๆ ตัวคุณ ถือเป็นการสื่อความหมายให้รถยนต์คันอื่น รับรู้ว่าคุณกำลังจะทำอะไร สัญญาณที่ใช้จึงต้องชัดเจนตรงกับความคิดและการกระทำที่จะเกิดขึ้นต่อไป หากสัญญาณที่ให้ไม่ถูกต้อง หรือคลุมเครือไม่ชัดเจน สิ่งที่จะตามมาก็คือการแปลสัญญาณผิด รวมถึงคนที่ขับโดยไม่ใส่ใจต่อการให้สัญญาณล่วงหน้า ซึ่งเสี่ยงต่ออันตรายและมีความล่อแหลมต่อการเกิดอุบัติเหตุ ซึ่งมีทั้งเล็กน้อยและรุนแรงถึงชีวิต ขึ้นอยู่กับสถานการณ์และความเร็วในขณะนั้น

 

ประเภทของสัญญาณในรถยนต์

-สัญญาณมือ

-สัญญาณไฟเลี้ยวเปลี่ยนทิศทาง

-สัญญาณเสียงแตร

-สัญญาณไฟฉุกเฉิน

-สัญญาณไฟเบรก

-สัญญาณไฟสูง

-สัญญาณของการขอบคุณซึ่งเป็นมารยาทในการขับรถที่ถูกละเลยมานานแสนนานแล้ว

 

ไฟเลี้ยว สัญญาณให้ทิศทางล่วงหน้าที่ถูกละเลย

เป็นสัญญาณที่ถูกละเลยและทำให้เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้งเมื่อรถที่จะเปลี่ยนช่องทางแต่ดันไม่เปิดสัญญาณไฟแจ้งเตือนล่วงหน้า ส่วนใหญ่เกิดจากการขาดความใส่ใจระลึกรู้ในกฎจราจรหรือกฎแห่งความปลอดภัยในการใช้รถ การเปลี่ยนช่องทางที่ถูกต้องควรใช้สัญญาณไฟเลี้ยวล่วงหน้าไม่ต่ำกว่า 50 เมตร มองให้ดีๆ ก่อนที่จะเปลี่ยนช่องทาง ไม่ใช่ยกไฟเลี้ยวปุ๊บก็หักพวงมาลัยเลี้ยวทันที สัญญาณไฟเลี้ยวซ้ายควรใช้ความระมัดระวังมากเป็นพิเศษ เพราะมีทั้งเลี้ยวเปลี่ยนช่องทางมาทางซ้ายหรือเลี้ยวซ้ายเข้าซอย รวมถึงสัญญาณเลี้ยวซ้ายเพื่อจอดรถชิดขอบทาง

 

 

ระวังการใช้สัญญาณไฟเลี้ยวซ้ายบริเวณทางแยกทางร่วม การวางตำแหน่งของรถที่ชัดเจนและการใช้ความเร็วที่เหมาะสมกับการเปลี่ยนช่องทางร่วมกับสัญญาณไฟเลี้ยวจะช่วยทำให้ปลอดภัยมากยิ่งขึ้น ควรให้สัญญาณไฟเลี้ยวล่วงหน้าก่อน 3-5 วินาที ก่อนที่จะเริ่มเปลี่ยนช่องทางเมื่อเห็นว่าไม่ไปรบกวนรถที่ตามมาด้านหลัง การเปิดสัญญาณไฟเลี้ยวค้างไว้นานเกินไปจะสร้างความสับสนให้กับรถคันอื่นที่แล่นอยู่ด้านข้างและด้านหลัง

 

ไฟฉุกเฉินหรือไฟขอทาง

ทำอะไรตามใจคือไทยแท้ สัญญาณฉุกเฉินที่เห็นกันจนชินตาในบ้านเราเกิดจากการใช้ตามความเข้าใจของตนเองเป็นหลัก โดยไม่ได้คำนึงถึงสภาพแวดล้อมความเหมาะสมและสถานการณ์ที่เกิดขึ้น แม้จะขับผ่านสี่แยกที่ไม่มีสัญญาณไฟจราจรก็ยังมีนักขับจำนวนไม่น้อยเปิดไฟขอทาง ไฟฉุกเฉิน หรือไฟผ่าหมาก แล้วแต่จะเรียกกันตามความถนัด ฝนตกอากาศปิดเพราะหมอกลงจัด หมอกควันจากไฟไหม้หญ้าข้างทางก็ยังมีคนเปิดไฟฉุกเฉินโดยคิดว่าให้สังเกตเห็นง่ายไว้ก่อน อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นจากไฟฉุกเฉินจึงเกิดขึ้นจากรถร่วมทางที่แปลสัญญาณความหมายของไฟฉุกเฉินที่คุณเปิดผิดเต็มๆ เช่น วิ่งเข้ามาที่สี่แยกจากมุมใดมุมหนึ่ง สัญญาณไฟฉุกเฉินที่ปรากฏในสายตาของรถคันอื่นอาจแปลความหมายว่าคุณกำลังจะเลี้ยว ทั้งๆ ที่จะตรงไป ไม่มีใครมารับประกันว่ารถยนต์ร่วมทางคันอื่นจะเห็นไฟของคุณหมดทุกด้าน

 

กฎหมายจราจรกำหนดห้ามใช้ไฟฉุกเฉินขณะที่กำลังวิ่ง ในต่างประเทศก็เช่นกัน หากจะใช้ก็ให้ใช้เพียงแค่ช่วงระยะเวลาสั้นๆ เท่านั้น สัญญาณไฟฉุกเฉินใช้ในกรณีรถเสียแล้วไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้ หรือเมื่อต้องจอดล้ำเส้นออกมาในผิวการจราจร สัญญาณไฟฉุกเฉินนั้นไม่ได้ให้อภิสิทธิ์แก่ผู้ใช้อย่างที่เคยเข้าใจกันไปเอง และเมื่อฝนตกหนักก็ไม่ควรเปิดไฟฉุกเฉิน ซึ่งอาจทำให้รถร่วมทางเกิดความสับสนขณะที่กำลังวิ่งอยู่ท่ามกลางการมองที่ย่ำแย่ โปรดเข้าใจวิธีการใช้และเปลี่ยนความคิดที่เคยครอบงำทำให้ใช้ไฟฉุกเฉินผิดมาโดยตลอดด้วยเถอะครับ

 

ไฟสูง (อุปกรณ์กระตุ้นอารมณ์โกรธ)

การกะพริบไฟสูงเปรียบเหมือนการแจ้งเตือนคล้ายกับการใช้สัญญาณแตร มักใช้ในเวลากลางคืน แต่ก็ใช้ตอนกลางวันในบางจังหวะจะโคนที่ต้องการเตือนรถที่กำลังจะเลี้ยวกลับรถซึ่งอาจล้ำเข้ามาในเส้นทางที่คุณกำลังขับเคลื่อนอยู่ หรือขอทางรถที่วิ่งช้าขับอยู่ในช่องทางด้านขวา ตีคู่ไปกับรถเลนซ้ายด้วยความเร็วที่เท่ากันจนรถคันหลังที่วิ่งเร็วกว่าต้องชะลอตัว สัญญาณไฟสูงนอกจากจะเป็นการเตือนให้ระวังแล้วยังใช้เป็นเทคนิคพิเศษเพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุอีกด้วย ขณะขับรถตอนกลางคืนบนถนนแบบสองเลนสวนกัน การกะพริบไฟเตือนถือเป็นการแจ้งเตือนรถที่แล่นสวนทางมาเพื่อแจ้งให้ทราบหรือให้ระมัดระวัง

 

การกะพริบไฟสูงเหมาะกับทางข้ามยอดเนิน สะพานที่โค้งยาวต่อเนื่องรวมถึงเหลี่ยมมุมโค้งในหุบเขา ใช้ไฟสูงเพื่อเตือนรถที่แล่นสวนมาบนทางที่ค่อนข้างคับแคบ ยกไฟสูงเพื่อตรวจสอบมุมอับ ถนนที่มืดมิดไม่มีไฟส่องสว่าง หรือเพื่อตรวจสอบผิวถนนว่ามีอะไรหล่นหรือกองอยู่ เช่น เศษยางรถสิบล้อที่ระเบิด ไม้หนุนรถบรรทุก เศษดินที่รถบรรทุกทำหล่นไว้ การยกไฟสูงต้องระวังไม่ให้ไฟของคุณไปแยงตารถที่แล่นสวนมา หากเห็นว่ามีเพื่อนร่วมทางที่ขับสวนมาก็ต้องรีบตบไฟกลับไปเป็นไฟต่ำเพื่อเพิ่มมุมมองให้กับรถที่แล่นสวนมาด้วยความเร็ว แถมยังช่วยทำให้ปลอดภัยไฟสูงไม่ไปแยงตาจนรถสวนมามองอะไรไม่เห็นแล้วขับเข้ามาในเลนของคุณจนเกิดการประสานงากันขึ้น ไฟสูงยังใช้กะพริบเมื่อต้องการแซงอีกด้วย

 

ไฟสูงยังเหมือนกับการกระตุ้นอารมณ์โกรธของนักขับบางคนที่ไม่สนใจโลก ไม่รู้ตัวหรือไม่สนใจว่าเลนทางขวานั้นมีไว้สำหรับแซง และเมื่อแซงผ่านแล้วก็ต้องกลับไปวิ่งที่ช่องทางด้านซ้ายเหมือนเดิม แต่บนถนนของประเทศไทยในทุกวันนี้ จะหานักขับที่ปฏิบัติตามกฎจราจรเพื่อความปลอดภัยและใส่ใจต่อรถยนต์รอบตัวน้อยลงทุกวัน การกะพริบไฟสูงเตือนรถที่วิ่งช้าอยู่เลนขวาสุดอาจทำให้เกิดความไม่พอใจแต่ไม่ได้ดูว่าตัวเองนั้น กำลังใช้ถนนแบบกีดขวางทางจราจร แต่การคาไฟสูงใส่รถคันข้างหน้าจากความโมโหที่ไม่ยอมหลบให้แซง ก็อาจทำให้เกิดเรื่องเกิดปัญหากันมาเยอะแล้ว บางกรณีถึงกับทำร้ายร่างกายกันก็มีให้เห็นบ่อยๆ ถ้าเห็นว่าคาแบบไม่สนใจใครทั้งสิ้น ก็ควรหาทางไปเอาเองเถอะครับ อย่าใช้อารมณ์ด้วยการสาดไฟสูงใส่ สุดท้ายอาจตามมาด้วยอุบัติเหตุหรือการทะเลาะเบาะแว้ง ซึ่งการกระทำดังกล่าวเราสามารถที่จะหลีกเลี่ยงได้.

 

อาคม รวมสุวรรณ

E-Mail chang.arcom@thairath.co.th

Facebook https://www.facebook.com/chang.arcom

https://www.facebook.com/ARCOM-CHANG-Thairath-Online-525369247505358/

 

Cr.ไทยรัฐออนไลน์ >>ยานยนต์

view